หลายคนคงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการปกครองในครอบครัวระหว่างพ่อกับลูกหรือแม่กับลูกก็แล้วแต่ ปัญหาคือลูกมักมองพ่อแม่เป็นศัตรู และไม่สนใจคำสั่งสอนของพ่อแม่ เพราะอะไร และจะทำอย่างไร???
เราทุกคนที่เกิดมาจะมีพ่อแม่เป็นเบ้าหลอม ตั้งแต่เกิดจนโต จึงจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองแก้ปัญหาเองได้ เราเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ต่อเมื่อเราต้องเผชิญชีวิตด้วยตัวเองประสบการณ์ที่เราเจอะเจอรอบตัวจะสอนเราแทนพ่อแม่ แต่เรามักจะมีทัศนะคติและวิธีมองและแก้ปัญหาแบบเดิมๆซ้ำๆ จากการดูดซับประสบการณ์จากในครอบครัว นำไปใช้ในสังคมด้วยตัวเราเอง ทำให้เราแต่ละคนมีนิสัยต่างกัน เช่น ชอบแก้ปัญหา หรือ หนีปัญหา ,ชอบความตึงเครียด หรือ หนีความตึงเครียด ,ชอบคิดเพ้อฝันหรืออยู่กับโลกแห่งความจริง ,มองคนเป็นมิตรหรือมองคนเป็นศัตรูไม่ไว้ใจใคร เหล่านี้ มาจากเบ้าหลอมที่เกิดในครอบครัวทั้งนั้น
แล้วเมื่อไหร่เราจึงจะเริ่มไม่ฟังพ่อแม่และเริ่มประมวลผลเพื่อการตัดสินใจเองล่ะ???
เท่าที่จำได้ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองต้องเผชิญหน้ากับคนรอบข้างด้วยตัวเองเพียงลำพังเมื่อเริ่มเข้าโรงเรียน และเริ่มที่จะต้องตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวของตัวเองอยางจริงจัง เสริมสร้างให้เป็นบุคลิกของผมมาเรื่อยๆ จนโตและแก่ ผมจึงคิดว่า ถ้าจะสร้างเบ้าหลอมให้เด็กควรจะเริ่มตั้งแต่เกิดจนเริ่มเข้าเรียน และเมื่อเข้าเรียนนั่นแหละคือเวลาที่ผมจะได้แสดงความเป็นตัวตนหลังจากที่ได้ถูกหล่อหลอมมา
จึงพบว่ามีเวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้นที่พ่อแม่จะสามารถหล่อหลอมลูกๆให้เป็นไปตามตั้งการได้ แต่จะทำอย่างไรล่ะ เราไม่รู้เลยว่าทำอย่างไร แล้ว ผลลัพธ์ จะเป็นอย่างไร ???
เราอยากให้ลูกเป็นคนแบบไหน ? ผมว่า 10 ครอบครัว ก็ 10 แบบ แต่นิสัยที่พวกเรายอมรับกันว่าจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่สามารถอยู่รอดในสังคมได้ก็คงจะเป็น
1.ความร่าเริงและมีทัศนคติด้านบวก ความร่าเริงจะทำให้คนที่เรารักมีความสุขรวมถึงทำให้เราด้วย
2.ความขยัน แม้ว่าหลายๆคนจะขี้เกียจ แต่ก็มักจะอยากให้คนที่เรารักขยัน ไม่มากก็น้อย
3.ความมีน้ำใจ ความมีน้ำใจจะทำให้คนอื่นรักและสามารถเป็นผู้นำต่อไปได้ไม่ยาก
4.ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ในยุคนี้ ซึ่งเมือได้มาแล้วก็ยากที่จะรักษามันไว้ด้วย
1.ความร่าเริงและมีทัศนคติด้านบวก
หลายคนคงเห็นด้วยว่าไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับการทำให้เด็กคนหนึ่งมี่อารมณ์ดีและมีความร่าเริง ถ้าภายในครอบครัวไม่มีปัญหาใดๆ เด็กก็มักจะอารมณ์ดี แต่บางทีก็ไม่สามารถควบคุมปัญหาบางอย่างได้ เช่น ความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ,ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ,ปัญหาเรื่องอารมณ์พื้นฐานของคนในครอบครัวที่มากระทบตัวเด็ก เหล่านี้ทำให้ลูกเกิดความเครียดและมีทัศนะคติกับหลายสิ่งไปในทางลบ หรือกลัวกับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จนกลายเป็นคนขาดความมั่นใจ พ่อแม่จึงควรมีกลยุทธ์ หรือวิธีที่จะแก้ปัญหาในการขจัดความเครียดออกไปจากตัวเองให้ได้ก่อน สรุปคือทำอย่างไรให้พ่อแม่ไม่เครียดนั่นเอง แล้วปัญหาจะไม่ไปกระทบที่ตัวเด็ก หรือกระทบน้อยที่สุด
แล้วถ้าเกิดพบว่าลูกเป็นเด็กซึมหรือเครียดจะทำอย่างไร?? การให้เขาสนใจในการทำกิจกรรมเป็นสิ่งสำคัญครับเพื่อให้เกิดสมาธิและมองเห็นความสวยงามของโลกใบนี้ รวมถึงการหัดสวดมนต์ทำสมาธิ เพื่อให้เขาใช้เป็นเครื่องมีสงบความคิดต่อไปเมื่อเขาโต เพราะหลายคนที่เป็นผู้ใหญ่มีความเครียดแต่ไม่เคยทำสมาธิ จะหาทางออกไม่ได้จนเกิดอาการป่วยทางใจ
ความขยัน
เด็กส่วนมากเกิดมา มีความขี้เกียจเป็นทุนเดิม ใครที่มีความขยันติดตัวมาจึงถือว่าเป็นบารมีของเด็ก แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พ่อแม่ก็คงต้องพยาลยามสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก ความขยันเป็นคำกว้างๆ หมายถึง ทำสิ่งต่างๆบ่อยๆจนเป็นนิสัย เช่นขยันเรียน ,ขยันกิน ,ขยันเล่น แสดงว่าความขยันที่พ่อแม่ต้องการต้องไปในทางที่ดี ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเด็ก ซึ่งประกอบด้วย ความสนใจในสิ่งที่ดี บวกกับสมาธิ ในการทำสิ่งนั้นได้นานๆ จึงเรียกว่าความขยัน พ่อแม่จึงมีหน้าที่นำเสนอสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ให้กับลูก และระมัดระวังสิ่งที่ไม่ดีหรือก่อให้เกิดประโยชน์น้อยที่อาจจะไปโดนใจลูกทำให้เกิดความสนใจ เช่น การเล่นเกมส์ , การอ่านการ์ตูน ,การดูโทรทัศน์ ส่วนในเรื่องของสมาธิก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก พ่อแม่สามารถหล่อหลอมลูกให้เกิดสมาธิได้ด้วย พฤติกรรมในครอบครัว เช่น ฝึกให้ลูกทำอะไรโดยไม่มีสิ่งอื่นมารบกวน คอยควบคุมพฤติกรรมลูกให้ทำสิ่งต่างๆอย่างมีสติและมีสมาธิ จนเพิ่มขึ้นไปทีละเล็กละน้อย ถ้าทำได้ก็จะเกิดเป็นความขยันในเรื่องที่ดีและก่อประโยชน์ได้เอง
แล้วถ้าเกิดพบว่าลูกขี้เกียจเรียนหรือทำงานจะทำอย่างไร ?? แสดงว่าลูกขาดการดูแลใกล้ชิดจากพ่อแม่จึงไม่รับการสั่งสมระเบียบวินัย วิธีการคือ ให้เขาร่วมทำกิจกรรมกับคุณในการทำงานบ้าน อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเขาทำการบ้านคุณต้องร่วมทำกับเขาด้วย ถ้ามีอาการเบื่อหน่ายหรืออิดออด อาจมีการให้รางวัลเล็กน้อยหลังจากการทำการบ้านเพื่อให้ความตั้งใจและมีสมาธิ อย่าคิดว่าเป็นการเสียนิสัยที่จะต้องจ้างตลอด เพราะนั่นเป็นคนละเรื่องกันครับ เมื่อเขาตั้งใจทำการบ้านจนเป็นนิสัย เราก็ไม่ต้องจ้างแล้ว เขาจะทำเองโดยสมาธิ
ความมีน้ำใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กส่วนมากมักจะมีนิสัยอยากได้ของคนอื่น บางคนกลายเป็นเด็กขึ้ขโมย แต่พอโตขึ้นมานิสัยนี้ก็จะค่อยๆเบาลง แต่ไม่ได้หายไปไหน ยังคงซ่อนอยู่ในตัวของคนหลายคน ทำให้เป็นคนขึ้เหนียว เห็นแก่ได้ ไปจนถึงทำให้เกิดเป็นความโลภ และนำมาซึ่งการคดโกงต่อสังคม ต่อบ้านเมือง พ่อแม่สามารถสร้างความมีน้ำใจขั้นพื้นฐานให้กับลูกได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักเชื่อมโยงคนในสังคมรอบข้างเข้าด้วยกัน ว่าแต่ละอาชีพมีคุณประโยชน์อย่างไรต่อสังคม เราควรให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างไรบ้าง โดนสอนทั้งทางคำพูดและการกระทำเช่น การให้ยืม การบริจาคสิ่งของ และเงินช่วยเหลือให้กับคนที่เดือดร้อน ไม่ว่าเพื่อนหรือญาติหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือรอบข้าง
แล้วถ้าพบว่าลูกเป็นคนเห็นแก่ได้หรือไม่มีน้ำใจจะทำอย่างไรล่ะ?? สร้างกิจกรรมขึ้นมาโดยตั้งกองทุนขึ้นมา 1 ก้อน แล้วให้ลูกเลือกว่าจะไปทำบุญที่ไหน โดยทำอย่างสม่ำเสมอ ทุกเดือนหรือ วันสำคัญ ทำอาหารหรือขนมให้ลูกไปให้เพื่อน เพื่อให้ลูกได้รับความภูมิใจ จากเพื่อนๆ
ความคิดสร้างสรรค์
คงต้องอาศัยความฉลาดคิดของพ่อแม่ ครู และคนรอบข้าง หรือถ้ามีฐานะอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ แต่ในขั้นพื้นฐานสามารถฝึกได้จากการเล่นและการใช้ชีวิตประจำวัน การเลือกสีที่ชอบ การเลือกสิ่งที่ชอบ การนำสิ่งต่างๆมาเชื่อมโยงกัน การสร้างเรื่องราวง่ายๆ ที่สำคัญ อย่าหัดให้ลูกเป็นผู้อุปโภคเพียงอย่างเดียว เช่น ฟังเพลง ดูทีวี เล่นของเล่น โดยไม่ลองให้ลูกลองทำตามเลย เช่น หัดให้ร้องเพลง เต้น เล่นเกม กำหนดหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นมา ซึ่งพ่อแม่คงต้องคิดให้ได้ก่อนหรือปรึกษาผู้เชียวชาญ
ถ้าพบว่าลูกไม่มีความคิดสร้างสรรค์จะทำอย่างไรล่ะ ?? ปล่อยวางกฎระเบียบต่างๆลงบ้าง ให้เด็กได้เล่นให้มากขึ้น ไม่ว่ากีฬาหรือการละเล่นอื่น ๆ รวมถึงงดกิจกรรมการนั่งดูทีวีเฉยๆ
เอาล่ะทั้งหมดนี้คือการหล่อหลอมลูกน้อยให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสังเกตว่าไม่ได้อยู่ที่การสั่งสอนหรือพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ต้องกระทำโดยให้เวลากับลูกให้มากที่สุด การสอนหรือพูดให้ลูกเชื่ออย่างที่จ่าหัวไว้จึงเป็นวิธีสุดท้ายที่พึงกระทำ ปัญหาที่ลูกไม่เชื่อจึงหมดไปโดยปริยาย แน่นอนไม่มีใครเชื่อคนที่ดีแต่พูดไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่......หรือคุณอยากให้ลูกโตมาแบบพูดดีแต่ไม่ทำ หรือทำไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น